เราคงคุ้นเคยกับการแบ่งประเภทกรอบเวลาเราไปร้านแว่น อันนี้กรอบโลหะครับ อันนั้นกรอบพลาสติกครับ ดีขึ้นมาหน่อยพนักงานก็จะแนะนำว่าอันนี้คือกรอบพลาสติคอะซิเตทครับ สำหรับบางคนอาจมีคำถาม “อะซิเตท (Acetate) ?” คืออะไร และทำไมกรอบอะซิเตทบางอันราคาถึงเป็นหลักหมื่น ในขณะที่กรอบอะซิเตทบางอันราคาแค่หลักพันมีทอน
เพื่อตอบคำถามนี้เราจึงเขียน Guide นี้ขึ้นมาครับ
อะซิเตทเหมือนกับพลาสติครึเปล่า ทำไมราคาหลายแบรนด์ถึงต่างกันทั้งๆที่ก็เป็นอะซิเตทเหมือนกัน
สิ่งที่คุณควรต้องรู้อย่างแรกคือ กรอบแว่นพลาสติคมีหลากหลายประเภทและอะซิเตทเป็นประเภทหนึ่งของพลาสติค ซึ่งกรอบพลาสติคแต่ละประเภทนั้นล้วนมีคุณสมบัติ ความสวยงาม และราคาที่แตกต่างกันออกไป แว่นอะซิเตท นับเป็นแว่นที่ได้รับความนิยมและมีความสวยงามที่สุดในบรรดาวัสดุต่างๆ แต่ก็มีราคาที่สูงกว่านั่นเอง
อย่างต่อมาคือราคาที่แตกต่างกันของแว่นอะซิเตทแต่ละยี่ห้ออยู่ที่ คุณภาพของวัสดุ และ กระบวนการขัดพื้นผิวหรือ post finishing ที่กินทั้งแรงและเวลา หากแต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีแตกต่างกันอย่างรู้สึกได้ ทั้งความสวยงาม สีสัน ผิวสัมผัส และความวาวของวัสดุ
อะซิเตท ( Acetate ) หรือชื่อเต็มคือ Cellulose Acetate, Zyl หรือ Zylonite เป็นพลาสติคโพลีเมอร์ที่ถูกสังเคราะห์จากใยไม้หรือใยฝ้ายธรรมชาติ ( และนั่นทำให้มันย่อยสลายและสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ต่างจากกรอบที่ทำจาก nylon ที่เป็น thermoplastic ที่สังเคราะห์จากเคมีปิโตรเลียม ) ผู้คนชื่นชอบอะซิเตทด้วยสีสันที่ทำได้หลากหลายความเงางาม ดูพรีเมื่ยม และความแข็งแรงทนทาน
กระบวนการผลิตแว่นตาอะซิเตท หัวใจสำคัญของคุณภาพ
กระบวนการผลิตอะซิเตทมีการใช้ขั้นตอนและเวลาที่แตกต่างกันทำให้ต้นทุนและคุณภาพงานที่ได้แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดมีดังนี้
Acetate Sheets ทำแผ่นอะซิเตทจากวัตถุดิบ - เริ่มจากแผ่นอะซิเตทที่เกิดจากการผสมสีธรรมชาติ ตัวทำละลาย acetone และสารตั้งต้น acetate เข้าด้วยกัน นำไปผ่านเครื่องรีดที่จะผสมวัตถุดิบทุกอย่างรีดออกมาเป็นแผ่นสีอะซิเตท ที่จะเห็นสีสัน แต่เนื้อหยาบ ดิบและยังไม่เป็นมันวาว สีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเกิดจากการผสมสีเพิ่ม รวมถึงการพับแผ่นอะซิเตทหลายทบ (Sandwiching) ตัดเป็นลูกเต๋าชิ้นเล็ก และนำเข้าเครื่องรีดอีกครั้ง แผ่นอะซิเตทที่ได้จะถูกนำไปบ่มเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อให้สีและวัสดุคงตัว เวลาที่ใช้ในการบ่มอะซิเตทก็มีผลต่อลักษณะสี ความอิ่มตัวและความสวยงามอีกด้วย เฉกเช่นไวน์ชั้นดีนี่เอง
วิดีโอจาก Mazzucchelli แสดงกระบวนการผลิตแผ่นอะซิเตท
Cutting and Forming การตัดและขี้นรูป - หลังจากนั้นแผ่น Acetate ที่ผ่านการบ่มเพาะจะถูกนำไปตัด บ้างก็ด้วยการใช้เครื่องตัด milling ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ บ้างก็ด้วยกระบวนการตัดด้วยมือซึ่งเราพบว่า ดีไซน์บางดีไซน์ การเข้ามุม ตัดมุมบางรูปแบบ ไม่สามารถใช้เครื่องจักรในการทำได้ ช่างฝีมือประสบการณ์สูงจึงมีความสำคัญในการสร้างดีไซน์เหล่านี้ เมื่อตัดออกมาแล้ว หน้าแว่นหรือขาที่ได้จะถูกนำไปดัดและประกอบส่วนต่างๆแล้วแต่ดีไซน์เข้าด้วยกันด้วยมือ
Polishing การขัดผิว - ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น นอกจากวัสดุและกระบวนการบ่มเพาะแล้ว กระบวนการขัดเงา ตกแต่งพื้นผิวนับว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ Acetate ชิ้นนี้ดูมีคุณค่าขึ้นมา เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน และอาศัยประสบการณ์ค่อนข้างมาก และนั่นหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นในการผลิต ดังนั้นกรอบที่ราคาไม่แพงนักจึงเลือกที่จะตัดหรือลดทอนขั้นตอนนี้ลงเพื่อสร้างผลกำไรที่มากขึ้น (ลองนึกถึงกรอบราคาไม่แพงที่ทำมาเพื่อขายประชากรทั่วไป ตลาดแว่นตามีมูลค่าสูงเป็น พันล้านดอลลาร์ หากต้องใช้เวลาในการผลิตเพิ่มขึ้น 30% เพื่อ Polish นั่นหมายถึงรายจ่ายที่มหาศาลเลยทีเดียว) ในกรอบที่ลดต้นทุนถึงขีดสุดแทบจะเหลือเพียงการจุ่มชิ้นงานลงในสารเคมี ( Chemical Vapor Bathing ) เพื่อให้เร็วที่สุด แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือชิ้นงานธรรมดาทั่วๆไป ในงานผลิตชั้นดีกระบวนการ Polishing นั้นประกอบไปด้วย
1. Tumbling Machine , กรอบ Acetate หลายชิ้นจะถูกใส่ พร้อมกับวัสดุขัด คือหินหรือเศษไม้เล็กในกล่องที่จะหมุนด้วยความเร็วสูง เพื่อขัดลบรอย และสร้างความเงางามเบื้องต้นให้กับกรอบ Acetate โดยจะผ่านกล่องทั้งหมดหลายกล่อง เริ่มจากวัสดุขัดหยาบ ไปจนถึงวัสดุขัดอย่างละเอียด ในงานคุณภาพสูงกระบวนการนี้อาจกินเวลาถึง 1 สัปดาห์ - ผ่าน Tumbling Machine หลายกล่อง แต่ละกล่องใช้เวลานาน 1-2 วัน
2. การขัดลบเหลี่ยม คมและขัดละเอียดด้วยมือ - Hand Filing & Sanding - หลังจากนั้นกรอบจะถูกตะไบด้วยมือ เพื่อให้เหลี่ยม สัน จุดข้อต่อ มีความมน หรือคมขึ้นแล้วแต่ดีไซน์ และจะถูกขัดแบบละเอียดด้วยมืออีกครั้งเพื่อความสมบูรณ์แบบ กระบวนการนี้จะต้องใช้ช่างขัดที่มีฝีมือและประสบการณ์มากเพื่อผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม
การขัดด้วยลูกขัดด้วยมือ - ลักษณะเป็นล้อวงกลมที่หมุนด้วยรอบช้าและเร็ว ทำจากผ้าหรือขนแกะ เพื่อขัดลบรอยที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก โดยจะเริ่มขัดกับวัสดุที่หยาบก่อนตามด้วยวัสดุละเอียด เช่นเดียวกันช่างขัดจะต้องใช้ประสบการณ์และฝีมือเพื่อให้ได้งานขัดที่สม่ำเสมอทั้งตัวงาน และได้คุณภาพที่เป็นที่น่าพอใจ
การขัดเงา - กระบวนการนี้จะคล้ายกับการขัดด้วยลูกขัด แต่มีการใช้ ครีมขัด โคลนชนิดพิเศษ นำมาขัดเพิ่มด้วยเพื่อสร้างความเงางามขั้นสุดท้ายให้กับวัสดุ
Assembly การประกอบ - เมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดข้างต้นแล้ว กรอบจะถูกประกอบกับ พาร์ทต่างๆ เช่น หมุด บานพับ เลนส์ สะพานจมูกเข้าด้วยกัน ก่อนจะถูกนำไปตรวจสอบคุณภาพ และแพ็คเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าต่อไป
จะเห็นได้ว่าการผลิตแว่นอะซิเตทคุณภาพดีชิ้นหนึ่ง ในบางแบรนด์อาจจะมีขั้นตอนในการทำงานมากกว่า 30 ขั้นตอน ใช้เวลาหลายอาทิตย์เลยทีเดียวเพื่อสร้างงานที่สวยงามที่สุด ในทางกลับกันหากความสวยงามไม่ใช่ปัจจัยการผลิตก็สามารถทำให้เสร็จได้ภายในวันเดียว และนี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาแว่นอะซิเตทแบรนด์ต่างๆ มีราคาที่แตกต่างกัน เป็นที่ทราบกันในวงการว่าการผลิตแว่น acetate คุณภาพดีที่สุดอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ช่างแว่นของญี่ปุ่นนั้นมีฝีมือที่ได้รับการยอมรับว่ายอดเยี่ยมและใส่ใจในทุกรายละเอียด
แหล่งผลิต อะซิเตท ชั้นนำของโลก
แต่หากพูดถึงแหล่งผลิตวัสดุ แน่นอนว่าผู้ผลิตแผ่น Acetate ที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นนั่นก็คือโรงงานที่มีชื่อว่า Takiron โดย Japanese Acetate หรือที่ถูกเรียกสั้นๆว่า Zyl เป็น Acetate ที่มีความแข็งแรงและคงรูปได้ดีแม้จะเป็นกรอบที่บางมากๆ จึงเป็น Acetate ที่ได้ชื่อด้านความทนทาน ทว่า Acetate ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกกลับมาจากอิตาลี โดยโรงงาน Mazzucchelli (มัตซึเคิลลี่) ที่สามารถผลิต Acetate หลากหลายสีสันและลวดลายฉูดฉาดกว่า โดยเฉพาะสี Havana หรือสีกระ กระดองเต่า ที่ได้รับความชื่นชอบอย่างมากในตลาด อย่างไรก็ตาม Acetate ของ Mazzucchelli นั้นมีความแข็งแรงและทนทานที่น้อยกว่า
สรุป
WALTZ Guide to : Acetate - แว่นอะซิเตทนับว่าได้รับความนิยมทุกยุคทุกสมัย แม้ระยะหลังกรอบแว่นโลหะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น แต่สำหรับงานแว่นอะซิเตทชั้นดีแล้ว กลิ่นอายความคลาสสิค เนื้อสัมผัสของวัสดุ และสีสันที่สวยงาม ก็ยังอยู่ในใจของผู้คนที่ชื่นชอบความคลาสสิคที่ไม่มีวันตายอยู่เสมอ แบรนด์แว่นอะซิเตทนั้นมัมากมายและหลากหลายคุณภาพและราคา แต่สำหรับ WALTZ เราหาเฉพาะคุณภาพที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่านั้น และนี่ึืคือ 3 งานแว่นอะซิเตทที่เราชื่นชอบและอยากลองแนะนำให้คุณได้สัมผัสที่ร้านของเรา
True Vintage Revival - การคืนชีพให้กับแว่นคลาสสิคในอดีต ด้วยวัสดุและงานฝีมือที่ดีที่สุดจากญี่ปุ่น TVR เป็นแบรนด์ที่กำลังมาแรงในกลุ่มคนรักแว่นทรงวินเทจทั่วโลก ผลิตในจำนวนจำกัด และใช้วัสดุ Zyl ที่หายากยิ่ง (Instagram : https://www.instagram.com/tvropt/ )
Jacques Marie Mage - แบรนด์จาก Los Angeles ที่เป็นที่ต้องการและหายากที่สุดในตลาดแว่นตาทั่วโลกขณะนี้ ด้วยดีไซน์คลาสสิคร่วมสมัย ผสานกับการออกแบบดีเทลต่างๆอย่างละเอียด ผลิตจากโรงงานลับในประเทศญี่ปุ่นด้วย Mazzucchelli Acetate (Instagram : https://www.instagram.com/jacquesmariemage/ )
Kuboraum - แบรนด์จาก Berlin ที่มีดีไซน์ที่ Contemporary โดดเด่น แหวกแนว ด้วยการผสานแนวคิด Geometric shape หรือรูปทรงเรขาคณิตกับงานดีไซน์ ผลลัพธ์จึงเป็นไอเท็มที่ทำให้คุณโดดเด่นได้ในทุกโอกาส เช่นเดียวกัน ผลิตด้วยอะซิเตทคุณภาพสูงจาก Mazzucchelli (Instagram : kuboraum)
ขอบคุณรูปประกอบจาก Mazzucchelli, True Vintage Revival, Jacques Marie Mage และ Kuboraum
Comments